ระบบการแจ้งเตือนภัยและการเฝ้าระวังจะส่งผ่านทางแอปพลิเคชัน “คชานุรักษ์”(Kajanurak) (เฉพาะระบบเฝ้าระวังช้างป่า) ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ถูกออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ทำงานร่วมกับระบบ Cloud โดยเฉพาะ เมื่อมีช้างป่าผ่านหน้ากล้อง ระบบ Cloud จะแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังทีมผลักดันช้างป่าของแต่ละจังหวัดผ่านแอปพลิเคชัน ข้อมูลการแจ้งเตือนครอบคลุมทั้งภาพช้างและพิกัดที่พบช้าง หลังจากการผลักดันช้างป่าเสร็จสิ้น จะมีการบันทึกข้อมูลกลับไปที่ระบบ Cloud โดยอัตโนมัติ เช่น จำนวนช้างป่าที่พบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากนั้นระบบจะจัดเก็บและนำไปประมวลผลเพื่อรายงานสำหรับเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาต่อไป ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน “คชานุรักษ์” (Kajanurak) รองรับการใช้งานในโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการAndroid เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาเพื่อให้รองรับการใช้งานในโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ iOS
ทั้งนี้ การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพช้างป่าพร้อมระบบ AI ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี สามารถตรวจจับภาพช้างป่าที่มีความน่าเชื่อถือร้อยละ ๙๐ ขึ้นไป
นอกจากนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้ทดสอบการนำข้อมูลพิกัดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติของศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จังหวัดระยอง เข้ามาต่อเชื่อมกับระบบ Cloud กลางของคชานุรักษ์ ทำให้ปัจจุบัน ระบบ Smart Early Warning ของโครงการคชานุรักษ์ครอบคลุมทั้ง ๕ จังหวัดเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนของการนำข้อมูลพิกัดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ ของกรมอุทยานฯ ที่มอบให้กับพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วย พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จำนวน ๓๕ ตัว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน ๑๕ ตัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จำนวน ๑๐ ตัว เข้ามาต่อเชื่อมกับระบบ Cloud ของโครงการคชานุรักษ์นั้น อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพิกัดกล้องตามจุดต่างๆ เพื่อวางแผนการดำเนินการขั้นต่อไป