โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการอยูร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ ว่า “ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี” หลังจากนั้นจึงเกิดเป็น “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ความว่า
“…ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า…”
เป็นแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยการฟื้นฟู สร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า ใช้วิธีการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก คือให้ผืนป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้องสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับช้างป่า สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโป่งเทียม ปลูกพืชอาหารสัตว์ แหล่งน้ำของสัตว์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกหน่วยงานน้อมนำพระราชดำริ ร่วมกันจัดการปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ช้าง สัตว์ป่าหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ภายใต้โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา โดยเริ่มปล่อยช้างคืนสู่ป่า มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ กับ พลเอกนพดล วรรธโนทัย ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า
“…ช้างเป็นสัตว์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ที่กินให้ช้างจะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ช่วยกันดูแลมิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัย ที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป…”
และเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และพลเอกนพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า
“…ขอให้ร่วมมือกับแม่ทัพภาคที่ ๑ และ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ดำเนินการ เรื่อง การปลูกพืชอาหารช้าง การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า มีที่อยู่ที่กินของช้างที่แก่งกระจาน เช่นเดียวกับที่กุยบุรี…”
สำหรับพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบถึงความเสื่อมโทรมของป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ภาคตะวันออก จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะชุมชนที่อพยพออกมาจากป่าและชุมชนที่อาศัยติดแนวเขตอนุรักษ์ ในการนี้ทรงรับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ภาคตะวันออก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดระยอง ในช่วงที่พระองค์ทรงเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้ม คืนความสุขให้ประชาชน” จังหวัดระยอง ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง มีประชาชนขอเข้ามาปรึกษาปัญหา และขอความช่วยเหลือกรณีช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่า ทำลายพืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่
สำนักอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดระยอง จึงได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ และความเสียหายของประชาชนในพื้นที่อำเภอเขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง ทำให้ทราบว่าช้างป่าที่ลงมาหากินนอกเขตโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะเข้าไปหากินในเขตตำบลเขาน้อย ตำบลห้วยทับมอญ และตำบลน้ำเป็น จังหวัดระยอง ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย บางครั้งทำร้ายประชาชนได้รับบาดเจ็บ ในกรณีที่ทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้งบประมาณของแต่ละท้องถิ่นเยียวยาแก่ประชาชนที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ แต่ถ้าหากเป็นความเสียหายต่อร่างกายจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนผู้ประสบภัยจากช้างป่าอำเภอเขาชะเมา นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อติดตามเผ้าระวังช้างป่าในระดับตำบล และระดับอำเภอ พร้อมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ถึงเส้นทางที่อยู่อาศัย หรือพบช้างป่าออกมาปรากฏ รวมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกรมุ่งเน้นให้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืชที่ไม่เป็นอาหารของช้างป่า พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้างป่า และร่วมกันสำรวจประชากรช้างป่า และเส้นทางหากินของช้างป่า เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่ สร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ให้กับช้างป่า
จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดระยอง มีหนังสือถึง ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น เรื่องขอรับคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับพื้นที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีหนังสือเรียนอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง ขออนุญาตเข้ามาประเมินหาข้อสรุป เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว โดยขอเสนอที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำของช้างป่าเป็นลำดับแรก จากนั้น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีหนังสือเรียนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และได้ข้อสรุปว่าปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จะเริ่มดำเนินงานในพื้นที่นำร่องบริเวณรอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง จังหวัดระยอง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการฟื้นฟูแหล่งอาหาร โป่งดิน แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า ให้กับช้างป่า